เราควรตรวจเอชไอวีบ่อยแค่ไหน?

ตรวจเลือด ตรวจเอชไอวี

เอชไอวีเป็นโรคหลักๆที่ แพร่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ฉะนั้นถ้าจะประเมินว่าควรตรวจบ่อยแค่ไหน ให้ประเมินจากพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของแต่ละคนจะดีที่สุด เพราะเอชไอวีไม่ใช่โรคที่อยู่ ๆ จะติดมาเลยเพียงแค่สัมผัสร่างกายคนอื่น แต่ช่องทางการติดจะมาจาก เพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย และการใช้เข็มฉีดยาซ้ำเป็นหลัก ช่องทางอื่นจะมาจากการที่สารคัดหลั่งใด ๆ เข้าสู่ร่างกายผ่านแผลสดขนาดใหญ่ หรือการรับเลือดของผู้มีเชื้อ แต่สองช่องทางนี้จะมีโอกาสได้น้อยมาก ทำให้เพศสัมพันธ์ยังเป็นช่องทางหลักของการแพร่เชื้อเอชไอวี ฉะนั้นหากใครที่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์บ่อยมากนัก หรือมีกับคน ๆ เดียวที่คุ้นเคยกันดี ก็ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจเอชไอวีมากนัก อาจจะตรวจแค่ครึ่งปีครั้ง หรือปีละครั้งเลยก็ได้ เพราะถือว่าไม่ได้มีความเสี่ยงรับเชื้อ

แต่สำหรับคนที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยกับคนที่ไม่รู้สถานะผลเลือด ควรเข้าตรวจเอชไอวีเพื่อรับยา PrEP ไปทานเพื่อป้องกันเอชไอวีจะดีที่สุด เพราะจะได้ไม่ต้องตรวจเอชไอวีบ่อยด้วย ที่ต้องตรวจจะมีแค่ช่วงก่อนรับยาไปทานและหลังทานยาครบในครั้งที่ 1 หรือ 2 เท่านั้น หลังจากครั้งที่ 3 เป็นต้นไปแพทย์อาจตัดสินใจจ่ายยาได้เลยโดยที่ไม่ต้องผ่านการตรวจเลือด
การตรวจเอชไอวีถือเป็นเรื่องดีเพราะหากตรวจพบจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันที แต่ถ้าเป็นไปได้ให้ป้องกันตัวเองด้วยยา PrEP ก่อนติดเชื้อแต่แรกจะดีกว่า เพราะการป้องกันโรคย่อมดีกว่าการรักษาเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเอชไอวีที่ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้

เมื่อไรที่เราควรไปตรวจ เอชไอวี

เมื่อไรที่เราควรไปตรวจ เอชไอวี?

เอชไอวีถือเป็นโรคที่ไม่ได้ติดง่ายมากนัก เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อโอกาสการติดเชื้อของแต่ละคน เช่น ปริมาณของเชื้อต้นทาง ช่องทางการรับเชื้อ สภาพแวดล้อมที่เชื้อสามารถอยู่ได้ ฯลฯ ฉะนั้นหากจะประเมินว่าควรไปตรวจเอชไอวีหรือไม่ ให้ประเมินจากความเสี่ยงตนอาจได้รับมาก่อนหน้าดีกว่า เช่น ความเสี่ยงจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย จากการโดนเข็มที่ใช้แล้วตำบริเวณผิวหนัง หรือกรณีที่มีเพศสัมพันธ์แต่ถุงยางอนามัยเกิดหลุด/ขาด เพราะช่องทางเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้เกิดความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี

แต่สำหรับคนที่ไม่ได้มีความเสี่ยงดังที่กล่าวมาข้างต้นก็อาจไม่ได้มีความจำเป็นต้องตรวจเอชไอวีบ่อยมากนัก เพียงปีละ 1-2 ครั้งก็ถือว่าเพียงพอแล้ว หรือถ้าไม่อยากกังวลเรื่องโรคเอชไอวี ก็สามารถเข้ารับยา PrEP (ยาต้านเชื้อเอชไอวีก่อนเสี่ยง) ไปทานก่อนมีเพศสัมพันธ์ได้ เพราะยาตัวนี้สามารถป้องกันเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพหากทานอย่างถูกวิธี ซึ่งก่อนจะรับยาตัวนี้ได้จะต้องมีการตรวจเอชไอวีก่อนเสมอ

สิ่งที่ควรรู้ก่อนไปตรวจเอชไอวี

สิ่งที่ควรรู้ก่อนไปตรวจเอชไอวี

             หากพูดถึงเรื่องการตรวจเอชไอวี ก็จะเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ตรงกันว่าต้องตรวจด้วยเลือด นี่เลยเป็นที่มาของชื่อเรียกติดปากว่า “การตรวจเลือด” ที่คุ้นเคยกันดี แต่การตรวจเอชไอวีก็เหมือนกับการตรวจโรคอื่น ๆ ตรงที่มีข้อจำกัดบางอย่างที่ควรรู้เบื้องต้นด้วย ดังนี้

  • การตรวจเอชไอวีไม่สามารถทำได้ทันทีหลังจากมีความเสี่ยงรับเชื้อมา โดยระยะเวลาก่อนตรวจหาเชื้อได้จะขึ้นอยู่กับวิธีตรวจที่สถานพยาบาลที่นั้น ๆ ใช้อยู่ แต่แบบที่ใช้ตามโรงพยาบาลมากที่สุดจะสามารถทำได้ตั้งแต่ 14 วันหลังจากมีความเสี่ยงเป็นต้นไป มีชื่อว่า “4th generation anti-HIV rapid test”
  • การตรวจเอชไอวีส่วนมากจะเป็นวิธีที่ตรวจได้รวดเร็ว ซึ่งจะมีตั้งแต่ 20นาที – 1ชั่วโมงตามแต่ละสถานที่ตรวจและปริมาณคนไข้ ทำให้สามารถรอรับผลได้ทันที
  • การเจาะเลือดตรวจเอชไอวีที่ดีที่สุดจะเป็นการเจาะบริเวณข้อพับแขน เพราะจะเป็นบริเวณที่โอกาสผลคลาดเคลื่อนมีน้อยมาก และเจาะได้ง่าย แต่บางที่อาจจะยังใช้วิธีเจาะที่ปลายนิ้วมืออยู่ ซึ่งเป็นวิธีที่โอกาสผลคลาดเคลื่อนค่อนข้างสูง
  • ทั้งการเจาะเลือดและการดูดเลือดผ่านเข็มจะเป็นขั้นตอนที่ต้องเจาะสิ่งแปลกปลอมผ่านผิวหนัง ฉะนั้นไม่ว่าจะเจาะเบามือแค่ไหนก็ต้องรู้สึกเจ็บอยู่ดี หากใครที่ไม่ชอบเข็มฉีดยาหรือมีอาการกลัวเข็ม ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้ง
  • เนื่องจากการตรวจเลือดสามารถตรวจหาได้หลายอย่างมากไม่ว่าจะเป็น ตรวจโรคซิฟิลิส ตรวจไวรัสตับอักเสบ ตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจค่าตับค่าไต และอีกมากมาย ฉะนั้นหากต้องการเข้าตรวจเอชไอวีควรเจาะจงชื่อโรคที่ต้องการจะตรวจตรง ๆ เพื่อป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้นได้

ประโยชน์ของการตรวจเอชไอวี

  • สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอให้แสดงอาการ
  • ได้รับการรักษา จะทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถทำงานได้อย่างปกติ
  • สามารถวางแผนป้องกันคู่ของตนเองติดเชื้อ และชวนคู่ไปตรวจเลือดได้
  • สามารถวางแผนป้องกันการติดเชื้อไปสู่ลูกได้
  • สามารถป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีได้
  • มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ และการป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง

เอชไอวีตรวจเร็วรักษาเร็ว ดีอย่างไร?

โรคเอชไอวีก็เหมือนกับโรคอื่น ๆ ที่รักษายิ่งเร็วก็จะยิ่งหายเร็วและไม่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ ถึงแม้เอชไอวีจะหายขาดไม่ได้ แต่การเริ่มรักษาเร็วจะทำให้คนไข้อยู่ในสถานะตรวจไม่พบเชื้อได้เร็ว (Undetectable) ซึ่งสามารถเทียบเท่ากับผู้ไม่มีเชื้อเอชไอวีได้ เพราะเมื่อคนไข้อยู่ในสถานะตรวจไม่พบเชื้อ ก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีได้อีกตราบใดที่ยังอยู่ในฤทธิ์ของยา

ปัจจุบันเป้าหมายของการรักษาโรคเอชไอวีทั่วไปคือการทำให้คนไข้อยู่ในสถานะตรวจไม่พบเชื้อให้เร็วที่สุด และให้ทุกคนที่ตรวจพบเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาเพื่อให้ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อไปได้อีก และจนกว่าจะมีวิธีรักษาที่ดีกว่าในอนาคต ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีจะต้องทานยาต้านไวรัสทุกวันไปเรื่อย ๆ เพื่อกดไม่ให้เชื้อเอชไอวีแพร่กระจายตามร่างกาย

#HIV #เอชไอวี #ตรวจเอชไอวี #ตรวจเลือด