หนองในเพศชาย อันตรายแค่ไหน?

beefhunt หาคู่

แม้ว่าการมีเซ็กส์ มันคือเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน แต่การมีแล้วไม่ป้องกันตนเองจนเกิดโรค ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนควรกระทำหรอกนะครับ โดยเฉพาะผู้ชายที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ หรือไม่ชอบสวมถุงยางอนามัยเวลามีเซ็กส์นั่นเอง มันมีโรคหนึ่งที่ชื่อว่า หนองในเพศชาย ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยอดฮิตที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย และพบมากในกลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงานอายุระหว่าง 15-25 ปี ที่มีโอกาสนัดเจอกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย

หนองในเพศชาย อันตรายแค่ไหน?

หนองในเพศชาย คืออะไร

หนองใน คือ การติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย Neisseria Gonorrhoeae ที่พบได้ในน้ำอสุจิและสารหล่อลื่นในช่องคลอด ซึ่งสามารถติดต่อได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงผ่านทางเพศสัมพันธ์ โรคหนองในเพศชาย มักส่งผลกระทบต่อท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือลำคอ โดยมักแพร่กระจายระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก

กลุ่มที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคนี้ เช่น

  • กลุ่มคนที่ไม่ชอบสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • กลุ่มคนที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนมากกว่า 1 คน
  • กลุ่มคนที่ใช้เพศสัมพันธ์กับผู้ให้บริการทางเพศ
  • กลุ่มชายรักชายที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
  • กลุ่มคนที่ใช้อุปกรณ์เซ็กส์ทอยร่วมกัน โดยไม่ได้ทำการฆ่าเชื้อ หรือห่อหุ้มด้วยถุงยางอนามัย

อาการของโรค หนองในเพศชาย

ส่วนใหญ่ การติดเชื้อหนองใน มักไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผู้ชายที่เป็นโรคนี้จึงไม่รู้ตัวและกลายเป็นพาหะนำโรคไปยังคู่นอนของตัวเอง ซึ่งอาการอาจปรากฎได้หลังมีการติดเชื้อประมาณ 2-30 วัน ดังนี้

  • ปวดปัสสาวะบ่อย และรู้สึกเจ็บปวดเวลาปัสสาวะหรือปัสสาวะขัด
  • ปวดบวมบริเวณลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง และปวดที่องคชาตด้วย
  • มีหนองไหลออกมาจากปลายท่อปัสสาวะ ลักษณะเป็นสีเขียว เหลืองอ่อนหรือสีขาวขุ่น
  • หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก อาจรู้สึกเจ็บเวลาถ่ายอุจจาระหรือมีเลือดออก
  • หากมีเพศสัมพันธ์ทางปาก อาจรู้สึกเจ็บคอ มีอาการอักเสบในช่องปาก ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม
  • หากมีการสัมผัสสารคัดหลั่งที่บริเวณดวงตา อาจมีอาการปวดตา ระคายเคือง ตาแดง ตาอักเสบได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น หนองในเพศชาย

การที่จะรู้ได้ว่าคุณเป็นหนองในย แล้วนั้นจะต้องทำการปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด เนื่องจากมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ชายที่ติดเชื้อหนองใน จะไม่แสดงอาการ แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนของโรคตามมาหากไม่ได้รับการรักษา ดังนั้น หากคุณหรือคู่นอน มีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ควรไปตรวจวินิจฉัยทันที และแนะนำให้ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไวรัสเอชไอวี ซิฟิลิส หนองในเทียม เริมที่อวัยวะเพศ เป็นต้น ซึ่งวิธีการตรวจหนองใน สามารถทำได้ด้วยวิธีดังนี้

  • การตรวจเลือด
  • การตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่ง บริเวณองคชาต ทวารหนัก หรือลำคอ ไปทำการทดสอบด้วยการย้อมสีในห้องแล็บ เพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย

ในการตรวจอาจไม่ทราบผลทันที เพราะต้องอาศัยเวลาในการเพาะเชื้อเพื่อความมั่นใจ โดยทั่วไป แพทย์จะแจ้งผลการตรวจภายใน 2-3 วันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการทำงานของแต่ละสถานพยาบาลด้วย และในช่วงเวลาที่รอผลตรวจอยู่ คุณควรงดการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ส่งต่อเชื้อไปให้คู่นอนได้โดยที่ไม่ตั้งใจ

ภาวะแทรกซ้อนของหนองใน

หากไม่ได้รับการรักษาหนองในเพศชาย จะสามารถเป็นต้นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเช่นเดียวกับ อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ภาวะไม่สามารถมีบุตรได้ เป็นหมัน การเกิดแผลในท่อปัสสาวะ การอักเสบของท่อส่งน้ำอสุจิ ฝีอยู่ภายในองคชาต อาการเจ็บปวดทรมาน และหากไม่ได้รับการรักษาตามที่เหมาะสม เชื้อจะแพร่กระจายไปในกระแสเลือดของผู้ป่วย ส่งผลให้ข้อต่อร่างกายอักเสบและทำลายลิ้นหัวใจ

อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

หนองใน แท้กับเทียม แยกอย่างไร

วิธีป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

วิธีรักษา หนองในเพศชาย

หนองในเพศชายไม่สามารถหายได้ด้วยการซื้อยามาทานเองตามร้านขายยา ประเด็นแรกที่ควรทำหลังจากรู้ว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ คือการปรึกษาแพทย์ทันที เพราะโรคหนองในเพศชายควรได้รับการวินิจฉัยและการรักษาจากแพทย์ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น การรักษาโรคหนองในเพศชายจะแบ่งออกเป็น การฉีดยาปฏิชีวนะ Ceftriaxone เข้ากล้ามเนื้อ 1 ครั้ง และการทานยาปฏิชีวนะ Doxycycline ต่อเนื่อง 7 วัน หากการรักษาถูกต้อง คุณจะค่อยๆ มีอาการที่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งควรงดเว้นกิจกรรมทางเพศไปก่อนจนกว่าจะหายดี

ป้องกันการเกิด หนองในเพศชาย

ป้องกันการเกิดหนองใน

แน่นอนว่า วิธีป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น คือการไม่มีเซ็กส์กับใครเลย แต่ด้วยธรรมชาติของมนุษย์คงเป็นไปได้ยาก เราจึงอยากเน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งกับทุกคนไม่ว่าจะมีการสอดใส่ หรือไม่สอดใส่ก็ตาม เพราะถุงยางอนามัยสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ถึง 98% แต่ต้องเป็นถุงยางอนามัยที่ยังไม่หมดอายุ และผลิตมาแล้วไม่เกิน 5 ปี ควรเก็บถุงยางอนามัยไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิปกติ ไม่ร้อนเกินไป และถุงยางอนามัยไม่จำเป็นต้องสวมสองชั้น มันไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันแต่อย่างใด แถมยังจะมีความเสี่ยงให้เกิดการเสียดสีจนทำให้ถุงยางอนามัยแตกรั่วได้ รวมไปถึงการมีจำนวนคู่นอนน้อยๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่คุณจะติดโรคลงได้มาก และท้ายที่สุด ตัวคุณและคู่นอนควรเข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ส่งต่อโรคใดให้กันได้