จะทำอย่างไร ถ้ามีเซ็กส์กับ คนติดเชื้อ HIV

เรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องธรรมชาติที่คนทุกคนจะมีได้ แต่จะทำอย่างไรหากคุณมีเพศสัมพันธ์กับ คนติดเชื้อ HIV เพราะคู่นอนที่เรารู้จักก็อาจจะไม่ได้ซื่อสัตย์กับเรา ไม่ได้บอกความจริงเกี่ยวกับสถานะเอชไอวีของตัวเอง หรือบางคู่เป็นคนที่มีความเสี่ยงบ่อยอยู่แล้ว ทำให้เราไม่แน่ใจว่า ได้พลั้งเผลอมีอะไรกับ คนติดเชื้อ HIV ไปหรือไม่ วันนี้ เรามีคำแนะนำหากคุณมีความเสี่ยงมาฝากกันครับ

จะทำอย่างไร ถ้ามีเซ็กส์กับ คนติดเชื้อ HIV

ทำอย่างไร ถ้าเผลอมีเซ็กส์กับ คนติดเชื้อ HIV

หากรู้แน่แล้ว หรือสงสัยว่าคู่นอนเป็นคนที่มีเชื้อเอชไอวี คุณควรพิจารณาว่า ขณะที่มีเพศสัมพันธ์ได้ทำการป้องกันตัวเองด้วยถุงยางอนามัยหรือไม่ หรือก่อนหน้านี้คุณเองได้มีการรับประทานยาเพร็พ (PrEP) ที่เป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีก่อนมีความเสี่ยงไว้ก่อนไหม เพราะปัจจัยเหล่านี้ มีผลต่อการวินิจฉัยของแพทย์ และช่วยลดเปอร์เซนต์ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อลงไปได้มาก แต่หากคุณไม่ได้มีการป้องกันตัวเองด้วยวิธีใดเลย คุณควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อขอรับบริการยาเป๊ป

ยาเป๊ป (PEP) เป็นยาต้านฉุกเฉิน สำหรับคนที่มีความเสี่ยงต่อเอชไอวี ในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยกับคนที่มีเชื้อเอชไอวีหรือถุงยางอนามัยแตกรั่วในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ รวมไปถึง ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกข่มขืน หรือถูกอุบัติเหตุเข็มทิ่มตำในสถานพยาบาล หากเข้าข่ายดังที่กล่าวมานี้ ควรติดต่อสถานพยาบาลที่ให้บริการยาเป๊ป (PEP) โดยเร็ว ซึ่งการรับประทานยาเป๊ปจะใช้เวลาประมาณ 28 วัน หรือตามแพทย์สั่งจ่ายยาให้

โดยการทำงานของยาเป๊ป คือ จะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ที่ไวรัสเอชไอวี ใช้ในการเจริญเติบโต ซึ่งจะทำให้ไม่สารมารถแพร่กระจายเชื้อไปทั่วร่างกาย ถึงแม้ว่า ประสิทธิภาพของยาเป๊ป จะเป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ แต่ยาเป๊ปก็ไม่สามารถป้องกันเชื้อเอชไอวีได้ 100% เพราะยังมีปัจจัยอีกหลายอย่าง ทั้งการรับประทานยาอย่างตรงต่อเวลา การไม่ขาดยา การไม่ไปรับความเสี่ยงเพิ่ม เป็นต้น อีกทั้งยังไม่แนะนำให้ใช้ยาเป๊ปทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เสี่ยงๆ การป้องกันไว้ก่อนย่อมมีความปลอดภัยสูงกว่าการรับเชื้อมาแล้วกินยาแก้ทีหลัง

ไปตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ HIV

การตรวจเอชไอวีทันที หลังจากมีความเสี่ยงไม่สามารถให้ผลลัพธ์ในครั้งล่าสุดได้ เพราะไวรัสเอชไอวี จะตรวจพบได้ต้องรอระยะฟักตัว ซึ่งช่วงเวลาสำหรับการตรวจหาเชื้อนั้น จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของการตรวจ และระยะเวลาตั้งแต่เกิดความเป็นไปได้ของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีแต่ละคน ซึ่งวิธีการตรวจเอชไอวีที่ใช้บ่อยที่สุด คือ การตรวจแบบน้ำยา Gen 4th (Fourth Generation Antigen/Antibody Test) ซึ่งสามารถตรวจพบการมีของแอนติเจน และแอนติบอดีในเลือดพร้อมกันได้ การตรวจชนิดนี้ สามารถให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำได้ตั้งแต่ 2-4 สัปดาห์หลังเสี่ยงติดเชื้อ แต่ก็แนะนำให้ทำการตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากผ่านไปประมาณ 4-8 สัปดาห์

ปรึกษาแพทย์ เพื่อเริ่มใช้ยาเพร็พ (PrEP)

ปรึกษาแพทย์ เพื่อเริ่มใช้ยาเพร็พ (PrEP)

หากคุณมีพฤติกรรมเสี่ยงบ่อยครั้ง หรือมีการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ การใช้ยาเพร็พไว้เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสเอชไอวีเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพของคุณ โดยกลุ่มคนที่ควรใช้ยานี้ ได้แก่

  • มีการใช้สารเสพติดประเภทฉีดเข้าเส้นเป็นประจำ
  • เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา
  • เคยเข้ารับบริการยาเป๊ป (PEP) บ่อยครั้งในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา
  • คู่นอนมีผลเลือดต่าง หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่แน่ใจว่ามีเชื้อเอชไอวีหรือไม่
  • มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือทางช่องคลอดโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง

ซึ่งแพทย์แนะนำว่าให้สวมถุงยางอนามัยร่วมกับการรับประทานยาเพร็พด้วย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเอชไอวีเกือบ 100% และช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ที่ยาเพร็พไม่อาจช่วยได้

การรับประทานยาเพร็พ ทุกวัน วันละ 1 เม็ด อย่างตรงต่อเวลา และไม่ขาดยา ถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้ร่างกายของคุณมีตัวยาไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดตลอดเวลา เมื่อได้รับเชื้อเอชไอวีตัวยาจะได้ออกฤทธิ์กำจัดไวรัสให้ออกไปจากร่างกาย ด้วยที่ยาเพร็พนี้มีความปลอดภัยมาก ยังไม่พบรายงานว่ามีผลข้างเคียงที่รุนแรงกับผู้ใช้ยา แต่ก็มีโอกาสที่จะพบผลข้างเคียงแบบเล็กน้อย เช่น

  • ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำๆ
  • คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ
  • ปวดเนื้อเมื่อยตัว รู้สึกอ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร ท้องเสีย มีผื่น น้ำหนักลดลง

ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาเพร็พเหล่านี้ ไม่เป็นอันตราย และมักจะดีขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง เมื่อร่างกายของคุณคุ้นเคยกับยา แต่คนส่วนใหญ่แทบไม่มีผลข้างเคียงเลย และแม้ว่า คุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือยังไม่หายดีง่ายๆ ให้กลับไปปรึกษาแพทย์ของคุณ พวกเขาสามารถช่วยคุณหาวิธีจัดการกับผลข้างเคียง และทำให้แน่ใจว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี

เมื่อคุณใช้ยาเพร็พแล้ว จะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีเป็นประจำ ทุกๆ 1-3 เดือน ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเพร็พที่คุณรับประทาน นอกจากนี้ ยังควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย เพราะการไปตามนัดหมายของแพทย์ เพื่อติดตามผลนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ที่จะทำให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงและปราศจากเชื้อเอชไอวี

คนติดเชื้อ HIV มีอาการอย่างไร

คนที่มีเชื้อเอชไอวี มักไม่แสดงอาการในทันที ดังนั้น พวกเขาจึงอาจไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อเรียบร้อย ซึ่งก็มีอยู่จำนวนมากที่ไม่รู้ตัวจนกินระยะเวลาหลายปี กว่าที่เชื้อเอชไอวี จะค่อยๆ ทำให้คุณมีอาการเจ็บป่วย ยิ่งในคนที่มีเชื้อเอชไอวีที่ดูแลตัวเองดี มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ภูมิคุ้มกันจะถูกทำลายไปอย่างช้าๆ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม เราจึงควรทำการตรวจหาเชื้อเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกันคนที่มีเชื้อเอชไอวีที่เข้าสู่กระบวนการ การรักษาเอชไอวี สามารถช่วยให้ไม่ก้าวเข้าสู่ภาวะโรคเอดส์ และมีสุขภาพที่ดีได้ ลดหยุดโอกาสในการแพร่เชื้อไปยังคู่นอนระหว่างมีเพศสัมพันธ์

คนที่มีเชื้อเอชไอวีในช่วง 2-4 สัปดาห์แรก อาจรู้สึกเป็นไข้ ปวดเมื่อย และไม่สบาย อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาแรกที่ร่างกายของคุณมีต่อการติดเชื้อเอชไอวี ในช่วงเวลานี้ จะมีไวรัสเอชไอวีจำนวนมากในร่างกายของคุณ จึงเป็นเรื่องง่ายมากที่จะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ไม่ว่าคุณจะมีอาการหรือไม่อาการเลยก็ตาม

คนติดเชื้อ HIV ไม่ใช่ผู้ป่วยเอดส์

คนที่มีเชื้อเอชไอวีนั้น มาจากไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ AIDS (Acquired Immune Deficiency Syndrome) ซึ่งก็หมายความว่าเอชไอวีและเอดส์ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และคนติดเชื้อ HIV ก็ไม่ได้เป็นโรคเอดส์เสมอไป

HIV เป็นไวรัสที่ติดต่อจากคนสู่คน เมื่อเวลาผ่านไป เอชไอวีจะทำลายเซลล์สำคัญชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันของคุณ เรียกว่าเซลล์ CD4 หรือทีเซลล์ ที่มีหน้าที่ป้องกันคุณจากการติดเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้ามาในร่างกาย เมื่อเซลล์ CD4 เหล่านี้ถูกทำลายลงและมีปริมาณไม่เพียงพอ ร่างกายของคุณจะไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อได้ตามปกติธรรมชาติของกลไกการทำงานร่างกาย

โรคเอดส์ เป็นโรคที่เกิดจากความเสียหายที่ไวรัสเอชไอวีทำร้ายระบบภูมิคุ้มกัน คุณจะเป็นโรคเอดส์ก็ต่อเมื่อคุณมีจำนวนเซลล์ CD4 ต่ำมาก และนำไปสู่ระยะที่ร้ายแรงที่สุดของเชื้อเอชไอวี สามารถเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษา โดยปกติแล้ว คนที่มีเชื้อเอชไอวีจะใช้เวลาประมาณ 10 ปีกว่าที่จะพัฒนาไปสู่โรคเอดส์ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสจะช่วยชะลอและยับยั้งการขยายตัวของไวรัส และสามารถช่วยให้คนที่มีเชื้อเอชไอวีมีสุขภาพแข็งแรงได้อย่างยาวนาน

คนติดเชื้อ HIV ไม่ใช่ผู้ป่วยเอดส์

ข้อแนะนำในการอยู่ร่วมกับ คนติดเชื้อ HIV

  • ให้ความสำคัญในเรื่องของเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (Safe Sex)
  • เรียนรู้และศึกษาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับไวรัสเอชไอวีและโรคเอดส์
  • พูดคุยระหว่างกันอย่างเปิดอก และช่วยป้องกันแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
  • ให้กำลังใจ และสนับสนุนให้ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเอชไอวีและเอดส์

อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

หนองในเพศชาย อันตรายแค่ไหน?

วิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

คนที่มีเชื้อเอชไอวี ไม่ได้เป็นตราบาปที่บ่งชี้ว่า บุคคลนั้นจะไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เนื่องจากคนติดเชื้อ ปัจจุบันสามารถรักษา และควบคุมไวรัสเอชไอวีให้อยู่ในปริมาณต่ำมาก จนไม่อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย หรือเข้าสู่ภาวะโรคเอดส์ได้ เพราะฉะนั้นคนที่มีเชื้อเอชไอวี จะไม่ส่งต่อเชื้อไปยังคู่นอนหรือผู้อื่นได้โดยง่าย สิ่งสำคัญ คือการปฏิบัติต่อคนที่มีเชื้อเอชไอวีด้วยความเข้าใจ และเคารพให้สิทธิของมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน โดยไม่จำเป็นต้องสนใจสถานะเอชไอวีของเขาเลย