เริม..โรคที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด

เริม โรคที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด

เริม เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Herpes simplex virus (ไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ หรือ HSV) พบได้บ่อยบริเวณริมฝีปากและอวัยวะเพศ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • Herpes Simplex Virus type 1: HSV-1 เป็นสาเหตุของการติดเชื้อบริเวณปาก หรือรอบๆปาก
  • Herpes Simplex Virus type 2: HSV-2 เป็นสาเหตุของการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ

อาการของ เริม

อาการของเริม จะเริ่มจากมีตุ่มน้ำใสขึ้นในบริเวณที่ติดเชื้อ หลังจากนั้นจะแตกออก แล้วเกิดเป็นแผล มีอาการปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย แผลจะค่อยๆ แห้ง ตกสะเก็ดและหายในระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ในบางรายอาจจะมีอาการไข้  ปวดศีรษะ ปวดตามตัว หรือมีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย ผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกจะค่อนข้างอาการหนักและรุนแรง ทำให้ต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่าผู้ป่วยที่เคยเป็น และมีเชื้ออยู่แล้ว ซึ่งจะมีอาการที่เบาและรักษาได้เร็วกว่า

เริม ติดต่อกันได้อย่างไร

เริม ติดต่อกันได้อย่างไร ?

เริม สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรง จากบริเวณบาดแผล จากน้ำในตุ่มพอง และน้ำลาย การมีเพศสัมพันธ์หรือกิจกรรมทางเพศ นอกจากนั้นการใช้ของอื่นๆ เช่น แก้วน้ำ ผ้าขนหนู ช้อนส้อม ร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นเริม ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน

สาเหตุหลักที่ทำให้เริมกลับมาเป็นซ้ำ

หากเคยติดเชื้อเริมมาแล้ว สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก สาเหตุหลักๆมาจากร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ เครียด พักผ่อนน้อย ร่างกายอยู่ในระหว่างการพักฟื้นหลังผ่าตัด อยู่ในแสงแดดจัดเป็นเวลานาน

การรักษาเริม

เริม สามารถรักษาได้ ด้วยยาต้านไวรัสทั้งชนิดรับประทาน และชนิดทา เริมจะมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ภายใน 2 สัปดาห์ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งจะแสดงอาการขึ้นอีกเมื่อภูมิคุ้มกันต่ำลง หากพบความผิดปกติ แนะนำให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

เริม ป้องกันได้อย่างไร

เริม ป้องกันได้อย่างไร ?

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง
  • ไม่ใช้ของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ
  • ไม่สัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง เช่นการจูบ หรือการมีเพศสัมพันธ์

ขอบคุณข้อมูลจาก : vichaiyut, seedoctornow

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม