หลายคนรู้จักโรค หนองใน กันอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิด ระหว่างชนิดของหนองใน ว่าเป็นหนองในแท้ หรือหนองในเทียม เพราะทั้งสองชนิดนี้มีอาการและความคล้ายคลึงกันอย่างมาก แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ หนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างแน่แท้ โดยเฉพาะคนที่มีเซ็กส์แบบไม่สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง นอกจากเชื้อไวรัสเอชไอวีที่มีความเสี่ยงสูงแล้ว โอกาสในการติดกามโรค เช่น หนองในแท้ หรือหนองในเทียมก็มีได้มากกว่าด้วย
Table of Contents
ประเภทของโรค หนองใน
หนองในแท้ ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ เกิดจากการติดเชื้อ Neisseria Gonorrhoeae (ไนอีสซีเรีย โกโนเรีย) มักแสดงอาการหลังมีความเสี่ยงตั้งแต่ 2-10 วันขึ้นไป
หนองในเทียม หรือ Non-Gonococal Urethritis เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่
- Chlamydia Trachomatis (คลามัยเดีย ทราโคมาติส) ที่ถูกพบมากที่สุด ประมาณ 40%
- Ureaplasma Urealyticum (ยูเรียพลาสมา ยูเรียไลทิคุม) ถูกพบรองลงมา ประมาณ 30%
- Ureaplasma Parvum (ยูเรียพลาสมา พาร์วัม)
- Mycoplasma Genitalium (ไมโคพลาสมา เจนนิทัลเลียม)
- Mycoplasma Hominis (ไมโคพลาสมา โฮมินิส)
เพศชายจำนวน 30% และเพศหญิงถึง 70% มักไม่แสดงอาการของหนองในเทียมเลย หรือเรียกว่าอยู่ในสภาวะ “การติดเชื้อหนองในที่ไม่มีอาการ” ทำให้ไม่ได้รับการรักษา และยังแพร่เชื้อไปสู่คู่นอนได้ทันที กว่าจะเริ่มมีอาการมักผ่านระยะเวลาไป 2-16 สัปดาห์หลังมีความเสี่ยง
อาการของ หนองใน
อาการของหนองในแท้
เพศชาย
- ปัสสาวะแสบขัด
- มีหนองไหลเป็นมูกสีขุ่นหรือสีขาว ออกจากปลายท่อปัสสาวะ
เพศหญิง
- มีตกขาวผิดปกติ
- ปัสสาวะแสบขัด
- มีหนองไหลเป็นมูกสีขุ่นหรือสีขาว ออกจากช่องคลอด
อาการของหนองในเทียม
เพศชาย
- ปวดบวมที่อวัยวะเพศ หรือลูกอัณฑะ
- ปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ หรือปัสสาวะขัด
- มีหนองไหลเป็นมูกสีใส ออกจากปลายท่อปัสสาวะ
- เจ็บเวลาถ่ายอุจจาระ (หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก)
เพศหญิง
- ปัสสาวะแสบขัด
- ตกขาวผิดปกติ สีเปลี่ยนไป มีกลิ่นเหม็น
- มีหนองไหลเป็นมูกสีใส ออกจากช่องคลอด
- ปวดท้องน้อย มีไข้ ไม่สบายเนื้อ ไม่สบายตัว
- มีเลือดออกกระปริบกระปรอย ทั้งที่ยังไม่มีประจำเดือน
- เจ็บเวลาถ่ายอุจจาระ (หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก)
- คออักเสบเรื้อรัง และตรวจพบหนองในลำคอ (หากทำออรัลเซ็กส์)
การรักษา หนองใน มีความแตกต่างกันอย่างไร
การรักษาหนองใน แพทย์มักจะใช้ยาปฏิชีวนะเป็นหลัก และผู้ติดเชื้อควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเลือกใช้ยาจำพวก Azithromycin, Cefixime, Ceftriaxone, Gentamicin หากร่างกายสามารถตอบสนองต่อยาได้ดี อาการที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ หายไปภายใน 1-2 สัปดาห์ ระหว่างการรักษาควรงดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 1 สัปดาห์หรือจนกว่าจะหายดี เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อไปยังคู่นอน และควรมีการติดตามผลการรักษาหลังจากนั้นอีกเรื่อยๆ เพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายไม่มีเชื้อหนองในอยู่แล้ว
หากคุณไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะทำให้เสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น
- ฝีที่อวัยวะเพศ
- ลูกอัณฑะอักเสบ
- หนองปากมดลูก
- ปากมดลูกอักเสบ
- ท่อปัสสาวะอักเสบ
- ติดเชื้อในกระแสเลือด
ไม่อยากติดหนองใน ป้องกันอย่างไร
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดหนองใน ไวรัสเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
- เมื่อมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าช่องทางไหนก็ตาม (ช่องคลอด, ทวารหนัก, ทางปาก) ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง
- คนที่มีความเสี่ยงสูง ควรเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ไม่ควรใช้ของส่วนตัวร่วมกับใคร แยกของใช้ให้เป็นสัดส่วน เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ชุดชั้นใน ฯลฯ
- ไม่สัมผัสแผลหนองในของใคร หรือแม้แต่กระทั่งของตนเอง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อลุกลามไปที่อื่นๆ ของร่างกาย
- หัดสังเกตอาการของคู่นอนของตนเอง หากพบอาการผิดปกติที่กล่าวไปข้างต้น หรือหากรู้แน่ชัดว่าบุคคลนั้น เป็นหนองในอยู่ ควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาให้หายก่อน
- ศึกษาและเรียนรู้เพื่อที่จะได้เข้าใจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างเข้าใจ
สิ่งสำคัญ ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ คุณไม่ควรทำการรักษาด้วยตัวเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ และทำการตรวจวินิจฉัยอย่างชัดเจน เพราะทั้งหนองในแท้ และหนองในเทียมมีขั้นตอนการรักษาที่มีความแตกต่างกันไป แพทย์จะเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับอาการเพื่อให้โรคทุเลาลงจนหายได้ในที่สุด การซื้อยามาทาน หรือมาทาบริเวณแผลเอง ส่งผลเสียให้เกิดโรคแทรกซ้อน และอันตรายจากการใช้ยาผิดที่อาจทำให้โรคไม่หายและยังทำให้การรักษายุ่งยากไม่ได้ผลด้วยครับ