โรคพยาธิในช่องคลอดเป็นปัญหาสุขภาพที่ผู้หญิงหลายคนอาจไม่ทราบว่าตนเองเป็น เนื่องจากอาการอาจไม่ชัดเจน หรือไม่มีอาการเลย ทำให้การตรวจพบ และการรักษาเป็นไปได้ยาก การปล่อยให้โรคพยาธิในช่องคลอดไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงขึ้นได้
Table of Contents
สาเหตุโรคพยาธิในช่องคลอด
โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจาก โปรโตซัว ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ไตรโคโมนาส วาจินาลิส (Trichomonas vaginalis) โรคนี้พบได้บ่อยในผู้หญิง แต่ผู้ชายก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน โรคพยาธิในช่องคลอดติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว หรือ การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
อาการโรคพยาธิในช่องคลอด
แต่บางคนอาจมีอาการที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- อาการคัน หรือระคายเคืองในช่องคลอด
- บวม แดง คัน หรือรู้สึกแสบบริเวณอวัยวะเพศ
- ตกขาวมีลักษณะผิดปกติ เช่น มีสีเหลือง หรือเขียว มีฟอง และมีกลิ่นเหม็น
- ปวด หรือแสบขัด เมื่อปัสสาวะ
- ปวดท้องน้อย
- ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
ภาวะแทรกซ้อนโรคพยาธิในช่องคลอด
หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้
- หญิงมีครรภ์เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
- ทารกอาจมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่าปกติ หรืออาจติดเชื้อปรสิตจากแม่ได้หากคลอดตามธรรมชาติ
- ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม หรือช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย เป็นต้น
- เสี่ยงติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ง่ายขึ้น
- เกิดภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจทำให้ท่อนำไข่อุดตันจากแผลเป็น ปวดท้องหรือปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานอย่างเรื้อรัง รวมทั้งอาจส่งผลให้มีลูกยาก
- เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก
การวินิจฉัยโรคพยาธิในช่องคลอด
การวินิจฉัยโรคพยาธิในช่องคลอดสามารถทำได้โดยการตรวจสอบทางคลินิก ซึ่งรวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจสารคัดหลั่งจากช่องคลอด หรือวิธีตรวจหาสารพันธุกรรมของพยาธิทริโคโมแนส
หากผู้ป่วยที่พบว่าตนเองติดเชื้อพยาธิในช่องคลอดแน่ชัดแล้ว ควรตรวจเลือดหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย เช่น เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และซิฟิลิส เป็นต้น
การรักษาโรคพยาธิในช่องคลอด
โรคพยาธิในช่องคลอด สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ โดยแพทย์จะสั่งยาปฏิชีวนะเช่น Metronidazole หรือ Tinidazole ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อพยาธิ การรักษาต้องทำทั้งคู่ของผู้ติดเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
ไปพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อติดตามผลการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ยังคงมีอาการผิดปกติหลังใช้ยา ซึ่งอาจเกิดจากการรับประทานยาไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง อาเจียนหลังรับประทานยา หรือติดเชื้อพยาธิในช่องคลอดซ้ำ โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะในปริมาณที่มากกว่าเดิม หรือรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ต่อไป
การป้องกันโรคพยาธิในช่องคลอด
- การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
- การตรวจสุขภาพเป็นประจำ และการตรวจภายในเพื่อคัดกรองโรค
- การรักษาความสะอาดของช่องคลอด และการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม
อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อสุขภาพเพศที่ปลอดภัย
วิธีป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
โรคพยาธิในช่องคลอดเป็นปัญหาสุขภาพที่ผู้หญิงควรให้ความสำคัญ แม้ว่าอาการอาจไม่ชัดเจน แต่การตรวจพบ และการรักษาอย่างทันท่วงที สามารถป้องกันปัญหาสุขภาพที่รุนแรงขึ้นได้ เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นด้วย