กรมอนามัย เตือนวัยรุ่นให้มีสติ รู้จักป้องกันการตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หลังพบวัยรุ่นมีแนวโน้มติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น พร้อมแนะวิธีปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยง
จากการสำรวจข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ประมาณ 561,578 คน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,230 คน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี จำนวน 4,379 คน ในขณะเดียวกันยังพบว่าพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ถึงร้อยละ 96 เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน และเมื่อพิจารณาสถานการณ์การเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลัก ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน กามโรคต่อมน้ำเหลือง ช่วงปี 2560 – 2565 กลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี ยังเป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราป่วย 99.6 ราย ต่อประชากรแสนคน ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นเป็น 112.3 ราย ต่อประชากรแสนคน ในปัจจุบัน
จากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปได้ว่า วัยรุ่น-เยาวชนยังขาดความเข้าใจในเรื่อง เอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จนอาจนำไปสู่การติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นได้ โดยการที่จะหาข้อมูลในสื่อต่างๆออนไลน์นั้นมีมากแต่มักจะถูกมองข้าม อาจเป็นเพราะสังคมของวัยรุ่น-เยาวชนหรือการเรียนสุขศึกษาในสถานศึกษาไม่ได้เน้นย้ำในการตระหนักและการให้ความสำคัญในเรื่องของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากเท่าที่ควร
ปัจุบันมีการให้ความรู้เกี่ยวกับ เอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เข้าถึงง่าย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข้อมูลจากสถานพยาบาลต่างๆ แหล่งข้อมูลจากกรมควบคุมโรค แม้กระทั่งสื่อออนไลน์ที่มีความน่าเชื่อถือต่างๆ ซึ่งสถานศึกษาควรส่งเสริม และริเริ่มให้มีการพูดถึงหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้อย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นส่วนแรกที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มวัยรุ่น-เยาวชนมากที่สุด ก็มักจะไม่ค่อยสื่อสารในเรื่องเพศ เอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย อย่างตรงไปตรงมา
ส่วนใหญ่ด้วยความที่พ่อแม่ของวัยรุ่น-เยาวชนไม่ได้ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่แรกจึงไม่ได้มีความรู้ และสนใจที่จะพูดคุยเลย อีกทั้งกลุ่มวัยรุ่น-เยาวชนมักมองเป็นเรื่องไกลตัว สวนทางกับพฤติกรรมของกลุ่มเยาวชนในยุคปัจจุบันที่มีการพบปะกับคนแปลกหน้าได้ง่ายมากขึ้นโดยเฉพาะสื่อออนไลน์หรือการเลือกใช้แอพพลิเคชั่นในการหาคู่
ทั้งนี้ทำให้ง่ายต่อการร่วมเพศกับคนแปลกหน้ามากขึ้น และแนวโน้มที่จะมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกันก็สูงขึ้นอาจเป็นเพราะขาดองค์ความรู้ ขาดการยับยั้งชั่งใจ หรือแม้กระทั่งนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการถูกกระทำโดยไม่ได้ยินยอมในบางราย เมื่อวัยรุ่น-เยาวชนมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยรวม
ทั้งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยาป้องกัน PrEP/PEP ไม่ได้แพร่หลายในหมู่เยาวชนเท่าที่ควรจึงทำให้ไม่ได้มีการติดตามสถานะผลเลือดของตนเองและไม่กล้าที่จะเข้ามาตรวจเลือด ก่อเกิดเป็นการติดเชื้อที่ไม่ทราบมาก่อนและส่งต่อเชื้อกันในกลุ่มวัยรุ่น-เยาวชนเพิ่มขึ้น
กรมอนามัยได้ดำเนินการสร้างความรอบรู้ด้านเพศสำหรับเยาวชน “รักเป็น ปลอดภัย” ด้วย 4 แนวทาง ดังนี้
- Safe Virgin มีเพศสัมพันธ์เมื่อพร้อม
- Safe Sex หากจะมีเพศสัมพันธ์ ตนเองต้องปลอดภัย ใส่ถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- Safe Abortion หากพลาดตั้งครรภ์ไม่พร้อม ปรึกษาหน่วยบริการฯเพื่อรับคำปรึกษา
- Safe Mom ฝากครรภ์คุณภาพ เพื่อลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย
ดังนั้น วัยรุ่นไทยควรรู้จักรักให้เป็น รักให้ปลอดภัย รู้วิธีการดูแลเพื่อป้องกันตนเอง และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ด้วยการให้เกียรติ และเคารพทุกเพศ ที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกันสองต่อสองในที่ลับตาคน และมีสติอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอารมณ์ทางเพศซึ่งจะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ตั้งใจ หรือหากจะมีเพศสัมพันธ์ต้องรู้จักวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ และการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยง ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และจะป้องกันได้ดีที่สุด ถ้าใช้ถุงยางอนามัยร่วมกับวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ยาฝังคุมกำเนิด หรือห่วงคุมกำเนิด
กรมอนามัยแนะนำการปฏิเสธโดยใช้ประโยค “ไม่…ถ้าฉันท้องแล้วเธอจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังไง?” เพราะการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ท้องไม่พร้อม หรือ ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จะเกิดผลเสียระยะยาวในอนาคตทั้ง 2 ฝ่าย สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองควรเป็นที่พึ่งให้กับลูกหลาน เปิดโอกาสให้ลูกรู้ว่าเขาสามารถพูดคุยกับพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง ไม่ต้องกังวล หากไม่สามารถตอบคำถามลูกได้ทุกคำถาม ให้ความสำคัญกับวิธีการโต้ตอบ ให้ลูกรู้ว่าเขาสามารถพูดคุยกับพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง และมีทางออกที่เหมาะสม
ทั้งนี้ กรมอนามัยมีการส่งเสริมความรอบรู้ด้านอนามัยวัยรุ่น และวัยเจริญพันธุ์ ผ่าน Line OA teen club เช่น ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นการคุมกำเนิดในวัยรุ่น สามารถเข้ารับคำปรึกษา เรียนรู้สร้างความรอบรู้ด้านเพศศึกษา และทักษะชีวิต โดย Add Line ได้ที่ @Teenclub
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้วัยรุ่นและเยาวชน เข้าถึงการตรวจคัดกรองเอชไอวีและซิฟิลิส โดยสนับสนุนชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีและซิฟิลิสแบบรู้ผลเร็วภายใน 20 นาที ให้กับ 53 จังหวัด ในปี 2565 และขยายความครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในปี 2566 ทำให้เกิดบริการตรวจเชิงรุกในชุมชน และสถานบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง หากพบการติดเชื้อจะได้รับการดูแลรักษาโดยเร็ว
โดยกรมควบคุมโรค ยังได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขับเคลื่อนการตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้คนไทยทุกคนตรวจเอชไอวีด้วยตนเองฟรี โดยเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตัง ในเมนูกระเป๋าสุขภาพ และรับชุดตรวจไอวีด้วยตนเอง ที่หน่วยบริการสุขภาพของรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนร้านขายยาที่ร่วมโครงการทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย (Safe Sex)
ขอบคุณ ข้อมูลจาก
- https://www.thairath.co.th/news/local/2738498
- https://th.trcarc.org/co010324/
- https://nbt2hd.prd.go.th/th/content/category/detail/id/2153/iid/229027