โรคหูดหงอนไก่ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย สามารถพบได้ทั้งในชายและหญิง แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผ่านการสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังหรือเยื่อบุผนังภายในของผู้ที่เป็นโรคนี้ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ หรือจากแม่สู่ลูกผ่านการคลอดแบบธรรมชาติ โรคนี้ทำให้เกิดหูดบริเวณอวัยะเพศ , ขาหนีบ, หรือทวารหนัก เป็นต้น
Table of Contents
โรคหูดหงอนไก่ คืออะไร?
โรคหูดหงอนไก่ หรือโรคหูดอวัยวะเพศ (condylomata acuminata ,genital warts) เป็นโรคที่มีลักษณะเเป็นติ่งเนื้อลักษณะขรุขระคล้ายหงอนไก่ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ได้แก่ ใต้หนังหุ้มปลาย รูเปิดท่อปัสสาวะ เส้นสองสลึง ขาหนีบ หรือทวารหนัก ฯลฯ มีขนาดเล็กมากจนแทบมองไม่เห็นไปจนถึงขนาดใหญ่ ทำรู้สึกคัน แสบร้อน หรือมีตกขาว จนเกิดการระคายเคืองขณะสัมผัส ส่วนสาเหตุของโรคเกิดจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัส ผ่านการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน
สาเหตุโรคหูดหงอนไก่
สาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมน แปปิโลมา (Human papilloma virus: HPV) ที่มีจำนวนกว่า 200 โดยไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์ที่ 6 และสายพันธุ์ที่ 11 เป็นสายพันธุ์หลักที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหูดหงอนไก่ ที่บริเวณอวัยะเพศ , ขาหนีบ, ทวารหนัก และเยื่อบุผิวภายในร่างกาย ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับผิวหนัง หรือเยื่อบุผนังภายในของผู้ที่เป็นโรคนี้ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ หรือจากแม่สู่ลูกผ่านการคลอดแบบธรรมชาติ การติดเชื้อทำให้เนื้อเยื่อเสียหาย และเกิดรอยโรคซึ่งเป็นลักษณะของความผิดปกติที่แสดงออกทางผิวหนัง โดยธรรมชาติ เชื้อไวรัสเอชพีวี ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ ไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
โรคหูดหงอนไก่ สามารถเกิดซ้ำได้ถึงร้อยละ 30-70 ในระยะเวลา 6 เดือนหลังสิ้นสุดการรักษา สาเหตุเป็นได้ตั้งแต่ยาไม่มีประสิทธิภาพ การติดเชื้อซ้ำจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการเกิดรอยโรคจากเชื้อในร่างกายตนเอง
อาการโรคหูดหงอนไก่
คนส่วนใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันดี หลังจากได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วมักจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา เชื้อเหล่านี้ก็จะถูกกำจัดออกไปได้เองภายใน 2 ปี (ยกเว้นในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ) แต่ก็ยังมีผู้ติดเชื้อบางส่วนที่อาจแสดงอาการออกมาให้เห็นหลังรับเชื้อเข้าไปแล้วหลายเดือนหรือหลายปี โดยอาการที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ ติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำที่บริเวณอวัยวะเพศหรือที่ทวารหนัก ขนาดของหูดหงอนไก่อาจมีขนาดเล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น หรือมีขนาดใหญ่จนก่อให้เกิดอาการระคายเคืองได้ หรือจนอุดกั้นช่องคลอด ทวารหนักหรือท่อปัสสาวะ บางรายมีเลือดออกจากก้อนหูด มีอาการคัน ตกขาวผิดปกติหรือแม้แต่แสบร้อนที่อวัยวะเพศ
อาการหูดหงอนไก่ผู้หญิง และอาการหูดหงอนไก่ผู้ชาย มักจะมีอาการเหมือนกัน โดยอาการของหูดหงอนไก่ที่สังเกตได้ มีดังนี้
- เกิดตุ่มเนื้อที่ผิวหนัง เมื่อสัมผัสตุ่มเนื้อจะมีความแฉะอยู่
- ตุ่มเนื้อมักขึ้นแบบเดี่ยว ๆ หรือหากมีเยอะ จะขึ้นเกาะกันเป็นกลุ่มๆ
- เพศชายมักจะพบบริเวณใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ เส้นสองสลึง รูเปิดท่อปัสสาวะ อัณฑะ ทวารหนัก และทุกส่วนของอวัยวะเพศ
- เพศหญิงมักจะพบบริเวณปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนักและบริเวณฝีเย็บ ซึ่งหากมีการตั้งครรภ์จะทำให้หูดโตเร็วกว่าปกติ
- ในทารก ที่คลอดผ่านช่องคลอดของมารดาที่มีหูดหงอนไก่ อาจจะทำให้เกิดโรคนี้ที่หลอดเสียง
การรักษาโรคหูดหงอนไก่
- ในรายที่มีรอยโรคขนาดเล็กหรือไม่มีอาการ อาจพิจารณาตรวจติดตาม หากยังไม่หายภายใน 1 ปี จึงเริ่มการรักษา
- ทาด้วยยาโพโดฟิลลิน (Podophyllin) ชนิด 25% แต่ต้องระวังไม่ให้ถูกเนื้อดี โดยให้ใช้วาสลีนทาปิดเนื้อดีโดยรอบเอาไว้ก่อน หลังจากทายาประมาณ 4-6 ชั่วโมงแล้วให้ล้างออก และต้องทาซ้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งจนกว่ารอยโรคจะหาย ซึ่งมักจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค
- ทาด้วยกรดไตรคลอโรอะซิติก หรือ ทีซีเอ (Trichloroacetic Acid – TCA) ชนิด 50-70% โดยไม่ต้องล้างออก และระวังอย่าให้ถูกผิวหนังที่ดี หลังจากทายาประมาณ 1 ชั่วโมงไม่ควรให้บริเวณที่ทายาโดนน้ำ และต้องรักษาซ้ำทุก 2 สัปดาห์จนกว่ารอยโรคจะหมดไป ตัวยานี้จะมีฤทธิ์ทำให้โปรตีนในเซลล์เสื่อมสภาพเป็นเซลล์ตาย ทำให้หูดที่มีก้านหลุดออกไปภายใน 2-3 วัน
- ทาด้วยครีมอิมิควิโมด (Imiquimod cream) ชนิด 5% เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้กำจัดเชื้อเอชพีวี (HPV) ออกไป โดยให้ทายานี้วันเว้นวันในช่วงก่อนเข้านอน ติดต่อกันเป็นเวลา 16 สัปดาห์ เป็นวิธีรักษาในหูดหงอนไก่ชนิดราบที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณเยื่อเมือก ยาทานี้มีราคาแพง แต่ผู้ป่วยสามารถนำกลับมาทาเองที่บ้านได้
- ทาด้วยยาโพโดฟิลอกซ์ (Podofilox) ชนิด 0.5% มีทั้งรูปแบบเจลและครีม ผู้ป่วยสามารถนำมาใช้ทาเองได้ที่บ้าน โดยวิธีการใช้ให้ทาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน แล้วเว้น 4 วัน แต่ไม่เกิน 4 รอบ
- รักษาด้วยการจี้ไฟฟ้า (Electrocauterization) หรือจี้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (Laser ablation) เพื่อตัดรอยโรคออก ใช้วิธีลดความเจ็บปวดในการรักษาด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ แพทย์มักใช้รักษาหูดขนาดใหญ่ที่รักษาด้วยวิธีอื่นมาแล้วแต่ไม่ได้ผล
- รักษาด้วยการจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นการใช้ไม้พันสำลีชุบด้วยไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen) แล้วนำมาป้ายหรือพ่นเป็นสเปรย์ลงที่รอยโรค เพื่อให้ความเย็นสัมผัสรอยโรคเป็นเวลานานประมาณ 10-15 วินาที และต้องระวังอย่าให้ถูกผิวหนังที่ดี ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดบ้างในขณะทำการรักษา แต่เป็นระดับที่สามารถทนได้โดยไม่ต้องใช้ยาชา และภายหลังการรักษาอาจทำให้มีรอยดำได้ การรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องทำซ้ำทุก 2 สัปดาห์จนกว่ารอยโรคจะหาย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค
- รักษาด้วยวิธีการตัดหูดหงอนไก่ออกด้วยมีดผ่าตัด (Surgical excision) แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาโดยการผ่าตัด โดยเฉพาะหูดหงอนไก่ที่มีขนาดใหญ่ หรือในผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ หรือคุณแม่ที่เป็นหูดหงอนไก่ที่กำลังจะคลอดบุตร แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดคลอดเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
- รักษาด้วยการขูดเอาเนื้องอกออก (Curettage) การขูดเอาเนื้อเยื่อที่เป็นกระเนื้อออกโดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เรียกว่า Curettage เพื่อให้ผิวหนังบริเวณนั้นบางหรือเรียบลง โดยอาจใช้ควบคู่กับวิธีการผ่าตัดด้วยความเย็นจัด หรือการจี้ด้วยไฟฟ้า
- การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser treatments) โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการนี้กับหูดหงอนไก่ที่มีลักษณะขึ้นเป็นวงกว้างและรักษาได้ยาก
การป้องกันโรคหูดหงอนไก่
โรคหูดหงอนไก่ไม่ใช่โรคร้ายแรง สามารถป้องกันได้โดยรับการฉีดวัคซีน และสามารถรักษาให้หายได้ ดังนี้
- การพบแพทย์ทันทีเมื่อสังเกตเห็นรอยโรคที่อวัยวะเพศ หรือผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากมีอาการของโรค เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
- การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
- ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ ช่วยลดการติดเชื้อเอชพีวี และช่วยให้สามารถกำจัดเชื้อได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยลดการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้แก่ เชื้อเอชไอวี หนองในแท้ หนองในเทียม และโรคเริม ได้อีกด้วย
- ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอวัยวะของผู้ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่
- หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หลีกเลี่ยงพฤติกรรมโลดโผนทางเพศ
- รักษาความสะอาดของร่างกาย
- รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- ตรวจสุขภาพประจำปี
- การขลิบอวัยวะเพศชาย (Male circumcision) ช่วยลดการติดเชื้อเอชพีวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ได้แก่เอชไอวี และ เริม
- การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV vaccine)เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ทั้ง 9 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ที่ 6 และ 11 ที่เป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่
อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย (Safe Sex)
โรคหูดหงอนไก่ อาจจะเป็นโรคที่มองข้ามไปได้ง่าย เพราะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ความรุนแรงของโรคนี้อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยได้ในระยะยาว หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ และลดโอกาสการเป็นโรคซ้ำ หรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนได้อื่นๆ ได้ รวมถึงสามารถป้องกันการเกิดโรคหูดหงอนไก่ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีได้อีกด้วย