โรคซิฟิลิส ติดง่าย แต่ป้องกันได้

beefhunt หาคู่
โรคซิฟิลิส (Syphilis)

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านทางเพศกับคนที่เป็นโรค หรือคนที่ติดเชื้อ ทั้งจากการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทวารหนัก และสามารถติดต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ ผ่านการถ่ายโอนเลือด หรือการใช้เข็มร่วมกันได้เหมือนกัน

โรคซิฟิลิส (Syphilis) คือ

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมาพาลลิดัม (Treponema pallidum)  โดยปกติจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดผื่นหรือแผลตามผิวหนัง และ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงขึ้นหากไม่รักษา

โดยทั่วไปโรคซิฟิลิสจะเริ่มจากบาดแผล ซึ่งมักพบบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะของแผลจะเป็นแผลที่ไม่รู้สึกเจ็บ (Painless sore) หรือเรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) การแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นสามารถเกิดได้ผ่านทางการสัมผัสบาดแผลนี้กับผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ

ระยะฟักตัวของโรค

หลังจากที่ได้รับเชื้อ ก็มักจะแสดงอาการภายใน 10 – 90 วัน

Treponema pallidum

สาเหตุของโรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ทรีโพนีมาพาลลิดัม (Treponema Pallidum) จากการสัมผัสถูกเชื้อโดยตรงจากแผลของผู้ป่วย และระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ที่มักสุ่มเสี่ยงกับการติดเชื้อได้มากที่สุด จึงมักถูกจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้การใช้เข็มฉีดยารวมกับผู้อื่น การรับเลือดจากผู้อื่น รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อสามารถส่งผ่านเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้เช่นกัน

ในช่วงระยะที่ 1-2 ของการติดเชื้อจะสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ง่ายมากที่สุด อย่างไรก็ตามการใช้สิ่งของร่วมกันในบางกรณีที่ไม่ได้สัมผัสกับเชื้อโดยตรงอาจไม่เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ เช่น การใช้ห้องน้ำ การสวมเสื้อผ้า หรือใช้ช้อนส้อมร่วมกัน รับประทานอาหารจากภาชนะเดียวกัน หรือแม้แต่จากลูกบิดประตู สระว่ายน้ำ อ่างอาบน้ำ หรือการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ นอกจากนี้ มีการติดเชื้อบางกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก สามารถเกิดได้จากการสัมผัสโดยตรงกับบริเวณที่มีการติดเชื้ออยู่ขณะนั้น เช่น ผ่านทางการจูบ เป็นต้น

โรคซิฟิลิส ติดต่อกันได้อย่างไร

สามารถรับเชื้อซิฟิลิสได้ 3 ทาง คือ
1. ทางเพศสัมพันธ์ โดยติดต่อผ่านทางเยื่อบุช่องคลอด ท่อปัสสาวะ
2. ติดต่อผ่านการสัมผัสแผลที่มีเชื้อ โดยผ่านทางผิวหนัง เยื่อบุตา ปาก
3. จากแม่สู่ลูก โดยหากมารดาเป็นซิฟิลิส จะถ่ายทอดโรคนี้สู่ทารกในครรภ์ได้ โดยเรียกเด็กที่เป็นซิฟิลิสจากสาเหตุนี้ว่า ซิฟิลิสแต่กำเนิด (Congenital Syphilis) จะแสดงอาการหลังคลอดได้ 3-8 สัปดาห์ และเป็นอาการเล็กน้อยมาก จนแทบไม่ทันได้สังเกต เช่น มีตุ่มผื่นขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่มาออกอาการมาก ๆ เข้าเมื่อตอนโต ซึ่งก็เข้าสู่ระยะที่สี่แล้ว หรือบางคนอาจแสดงอาการพิการออกมาให้เห็นได้ชัด

อาการของซิฟิลิส

อาการของโรคซิฟิลิส

แบ่งอาการออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 (Early/Primary Syphilis)

มักจะแสดงอาการเริ่มต้นจากการเกิดแผลขนาดเล็กบริเวณที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายประมาณ 3 สัปดาห์ โดยปลายขอบแผลมีลักษณะเรียบและแข็งที่เรียกว่า แผลริมแข็ง (Chancre) สำหรับผู้ชายแผลริมแข็งมักจะเกิดในบริเวณปลาย หรือลำอวัยวะเพศ ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่ทันสังเกต หรือไม่รู้ตัวว่ามีแผลเกิดขึ้น เนื่องจากแผลนี้จะไม่มีอาการปวด และแผลอาจซ่อนอยู่ภายในช่องคลอด หรือทวารหนัก จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อซิฟิลิสได้ แผลริมแข็งนี้โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงตำแหน่งเดียว แต่ก็มีบางส่วนที่มีแผลหลายตำแหน่ง โดยแผลริมแข็งจะสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลาประมาณ 10-90 วัน มักไม่มีอาการเจ็บปวดและจะค่อย ๆ หายไปได้เองภายใน 6 สัปดาห์แม้ไม่ได้รับการรักษา

ระยะที่ 2 (Secondary Stage)

โรคจะเริ่มพัฒนาจากระยะแรกใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดผื่นที่มีลักษณะตุ่มนูนคล้ายหูดขึ้นตามบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า อวัยวะเพศ หรือส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขาหนีบ ทวารหนัก ภายในช่องปาก แต่ไม่มีอาการคันตามผิวหนัง บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ มีปื้นแผ่นสีขาวในปาก เป็นไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองบวม เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ผมร่วง หรืออาการอื่น ๆ แต่อาการเหล่านี้มักจะหายไปแม้ไม่ได้รับการรักษาเช่นกัน

ระยะสงบ หรือระยะแฝง หรือ Latent Syphilis

เป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีอาการของโรคแสดงออกมาให้เห็น แต่ผู้ป่วยยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกายและตรวจเลือดพบได้ ระยะนี้สามารถเกิดได้นานเป็นปีก่อนจะพัฒนาไปยังระยะสุดท้าย

ระยะที่ 3 (Tertiary Syphilis)

หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้โรคพัฒนามาจนถึงระยะสุดท้ายที่ก่อให้เกิดความผิดปกติและภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ สมอง ระบบประสาท หรืออวัยวะหลายส่วนของร่างกายเมื่อเชื้อไปอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งจะนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น อัมพาต ตาบอด ภาวะสมองเสื่อม หูหนวก ไร้สมรรถภาพทางเพศ โรคหัวใจ เสียสติ และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

การตรวจและวินิจฉัยโรคซิฟิลิส 

แพทย์จะสอบถามข้อมูลทั่วไป เช่น อาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วย พฤติกรรมด้านเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการตรวจร่างกายในเบื้องต้น ซึ่งแพทย์ หรือพยาบาลจะตรวจดูบริเวณอวัยวะเพศหรือส่วนอื่นของร่างกายว่าพบแผล หรือความผิดปกติใด ๆ ที่อาจเกิดจากโรคซิฟิลิส ก่อนจะสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นเพิ่มเติม ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มักใช้ในการวินิจฉัย ได้แก่

  • การตรวจเลือด เป็นการตรวจหาเชื้อที่อยู่ในกระแสเลือดของผู้ป่วย โดยในบางรายที่ผลการตรวจออกมาว่ามีการติดเชื้อ อาจต้องมีการตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากการตรวจครั้งแรก เพื่อช่วยยืนยันการติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิสขึ้น  
  • การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ (Swab Test) ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดแผลหรือผื่นตามร่างกาย แพทย์อาจมีการเก็บตัวอย่างจากเชื้อบนผิวหนัง หรือน้ำเหลืองจากแผลไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ หาเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิสหรือไม่

ทั้งนี้ การวินิจฉัยต้องดูระยะของโรคที่ผู้ป่วยเป็นร่วมด้วย เนื่องจากในบางระยะอาจไม่มีอาการของโรคแสดงออกมาให้เห็น แต่เมื่อโรคเข้าสู่ระยะสุดท้าย มักพบความผิดปกติของระบบร่างกายอื่น ๆ แพทย์จึงอาจมีการเก็บสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการในบางรายตามระยะโรคที่ผู้ป่วยเป็น เช่น แพทย์อาจทำการเจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal Tap/Lumbar Puncture) ในกรณีที่คนไข้มีอาการทางระบบประสาท แต่ไม่พบอาการอื่น ๆ ของโรค

การรักษาโรคซิฟิลิส

สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เป็นหลัก แม้ว่าอาการของโรคในระยะแรกมักเกิดขึ้นแล้วหายไป และอาการในระยะท้ายมักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องก่อนโรคมีการพัฒนามากขึ้นจนรุนแรงต่อระบบอื่นในร่างกาย ในช่วงระหว่างการรักษา ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคหรือกระตุ้นให้โรคเกิดการกำเริบมากขึ้นหากได้รับเชื้อจากผู้อื่นอีกครั้ง และแนะนำให้คู่นอนมาตรวจด้วยเช่นกัน

ส่วนใหญ่ยากลุ่มเพนิซิลลิน จี (Penicillin G) ที่แบ่งย่อยได้อีกหลายชนิด เช่น

  • ยาเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี (Benzathine Penicillin G) 
  • ยาเอเควียส เพนิซิลลิน จี (Aqueous Penicillin G)

ซึ่งแพทย์จะฉีดให้ผู้ป่วยโดยดูจากระยะเวลาในการป่วยว่าเป็นมานานเท่าใ

  • ผู้ป่วยระยะที่ 1-2 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วย 1 ครั้ง   
  • ผู้ป่วยระยะแฝงหรือระยะที่ 3 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1 ครั้งติดต่อกัน 3 สัปดาห์
  • หากโรคซิฟิลิสขึ้นไปที่สมอง (Neurosyphilis) แพทย์จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี เข้ากล้ามเนื้อ 18-24 ล้านยูนิตต่อวัน โดยแบ่งการให้ยาเป็น 3-4 ล้านยูนิตทุก 4 ชั่วโมง ติดต่อกันนาน 10-14 วัน หรือฉีดโปรเคน เพนิซิลลิน (Procaine Penicillin) ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยวันละ 1 ครั้ง ร่วมกับรับประทานยาโพรเบเนซิด (Probenecid) ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลานาน 10-14 วัน
  • สำหรับผู้ป่วยที่แพ้ยาเพนิซิลลินยังไม่มีตัวยาที่ใช้ทดแทนอย่างแน่นอน อาจจะให้รับประทานยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline) ขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งต่อวัน ร่วมกับยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นานติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน หรือฉีดยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 1-2 กรัมเข้ากล้ามเนื้อเป็นเวลา 10-14 วัน

อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยยาอาจส่งผลข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย เช่น ไข้ขึ้น เวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดตามข้อ แต่อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ทุเลาลงในเวลาไม่นาน บางครั้งแพทย์อาจจ่ายยาพาราเซตามอล ช่วยบรรเทาอาการ ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อประเมินและปรับตัวยาที่ใช้ในการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อต่อไป

การป้องกันโรคซิฟิลิส

  • งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ 
  • มีเพศสัมพันธ์เฉพาะสามี-ภรรยา / คู่นอนของตนเองคนเดียวเท่านั้น
  • ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ (การใช้ถุงยางอนามัยสามารถลดการติดเชื้อซิฟิลิสได้ แต่ตัวถุงยางอนามัยต้องครอบคลุมบริเวณแผลด้วย)
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลซิฟิลิส คู่นอนอาจมีแผลที่ปาก ลิ้น อวัยวะเพศ ดังนั้นอาจติดเชื้อได้จากการ จูบ หรือทำ Oral sex
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือยาเสพติดประเภทต่างๆ (การดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือการใช้ยาเสพติดต่างๆ มีผลทำให้ขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ และอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันได้
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้
  • งดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • หญิงมีครรภ์ควรได้รับการตรวจเลือดคัดกรองโรคในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 8-12 ของการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อไปยังทารก
  • การทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆของคู่นอน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์
  • ไปพบแพทย์เสมอเมื่อมีอาการผิดปกติ อย่ารักษาด้วยตนเอง  หรือไปพบแพทย์เมื่อมีความกังวลหรือสงสัยว่าตนเองติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์รวมถึงซิฟิลิส
ควรปฏิบัติเมื่อเป็นซิฟิลิส

ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อเป็นโรคซิฟิลิส  

  • มาพบแพทย์ตามแผนการรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีด ให้มาฉีดยาตามวัน เวลาที่แพทย์กำหนด และครบตามจำนวนครั้งที่แพทย์สั่ง ในกรณีที่รักษาด้วยยารับประทานให้มาพบแพทย์ตามนัด          
  • ถ้ารับการรักษาไม่ครบตามคำสั่งแพทย์ ต้องเริ่มต้นรักษาใหม่
  • หากมีประวัติเคยแพ้ยาเพนนิซิลิน ต้องบอกให้แพทย์ทราบก่อนการรักษา
  • การติดตามผลการรักษา แพทย์จะนัดมาตรวจเลือดหลังได้รับการรักษาครบ 3 เดือนและนัดเป็นระยะๆ จนครบ 5 ปี หรือเมื่อแพทย์พิจารณาเห็นควรให้เลิกนัดได้  
  • กรณีที่ยังรักษาไม่ครบ คู่สมรสยังไม่ได้รับการตรวจเลือด หรือคู่สมรสมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ แนะนำให้งดเพศสัมพันธ์ หรือใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์       
  • หากตั้งครรภ์ ควรมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยของมารดาและทารกในครรภ์ 
  • สำหรับทารกที่เกิดจากมารดาที่มีเชื้อซิฟิลิส  ควรได้รับการดูแลโดยกุมารแพทย์  ตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อลดความผิดปกติของอวัยวะในระยะยาว
  • แนะนำให้คู่สมรสมารับคำปรึกษาและการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อซิฟิลิส                            
  • ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง  เพราะจะทำให้โรคไม่หายขาดและอาจแพ้ยาได้
  • เมื่อเป็นโรคซิฟิลิสครั้งหนึ่งแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นโรคนี้อีก แม้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และครบถ้วนก็ยังสามารถติดเชื้อใหม่ได้อีก
  • อาหารที่รับประทานจะต้องประกอบไปด้วยข้าว ผัก ผลไม้ ถั่วต่าง ๆ รวมทั้งนมและไข่ เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และสิ่งกระตุ้นทั้งปวง ตลอดจนน้ำชา กาแฟ และอาหารเผ็ดร้อนต่าง ๆ
  • อาบน้ำบ่อย ๆ และอาบน้ำอุ่นก่อนนอนสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

บทความที่เกี่ยวข้อง :

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • ซิฟิลิส https://www.pobpad.com/ซิฟิลิส
  • รู้เท่าทัน ป้องกัน โรคซิฟิลิส https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/syphilis
  • ซิฟิลิส https://www.paolohospital.com/th-TH/center/Article/Details/บทความ-สุขภาพผู้หญิง/ซิฟิลิส
  • ซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/ซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์/
  • โรคซิฟิลิส https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=883