โรคฝีดาษลิง โรคฝีดาษวานร หรือไข้ทรพิษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเกิดจากไวรัสในตระกูลเดียวกันกับไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ พบในสัตว์ ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาหรือมีวัคซีนป้องกันโดยเฉพาะ แต่สามารถควบคุมการระบาดได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ ที่สามารถช่วยป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ประมาณ 85% ซึ่งการแพร่ระบาดของโลกฝีดาษ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ ร้อยละ 99 % เป็นผู้ชาย โดยติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้หลายคนให้ความสนใจและวิตกกังวลเป็นอย่างมาก
Table of Contents
สาเหตุโรคฝีดาษลิง
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Orthopoxvirus ในวงศ์ Poxviridae ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) โดย โรคนี้สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อไวรัสนี้ มักจะอยู่ในสัตว์ในตระกูลลิง และฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย มักจะพบในป่าดิบชื้นบริเวณตอนกลาง และทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา
โรคฝีดาษลิง ติดต่อได้อย่างไรบ้าง?
การแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน
สามารถเกิดได้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น ลิง หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น หรืออาจอาจติดเชื้อจากการโดนสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงไม่สุก
การแพร่เชื้อจากคนสู่คน
สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ดังนี้
- สัมผัสที่ผื่น รอยโรค ตุ่มหนอง โดยตรง สัมผัสเลือด หรือสารน้ำในตุ่มหนองที่แตกออกมา
- สัมผัสสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย การไอจาม หรือจากสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส
- ติดต่อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่จากทางเดินหายใจ พบในผู้ที่อยู่ใกล้ชิด พูดคุยกันเป็นเวลานาน
- การกอดจูบ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ
- การสัมผัสสิ่งของ เช่น เสื้อผ้า หรือของใช้ที่มีสารคัดหลั่งปนเปื้อน
- ติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ ผ่านทางรกได้
โดยสามารถติดต่อได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการ หรือเริ่มมีตุ่มขึ้น ไปจนระยะที่ตุ่มตกสะเก็ด และเมื่อแผลหายดีแล้วก็จะหมดระยะการแพร่เชื้อ
อาการโรคฝีดาษลิง
- อาการของโรคจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 7-14 วัน
- มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน จะมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายผื่นขึ้นตามตัวเช่น แขน ฝ่ามือ ขา รวมทั้งเยื่อบุบริเวณตา ช่องปาก และอวัยวะเพศ ซึ่งตุ่มเหล่านี้จะอักเสบ และแห้ง ไปเองใน 2 – 4 สัปดาห์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ ดังนี้
– มีตุ่มนูนแดงคล้ายผื่น
– ภายในตุ่มมีน้ำใสอยู่ภายใน รู้สึกคัน แสบร้อน
– ตุ่มใสกลายเป็นหนอง เมื่ออาการรุนแรงขึ้น ตุ่มหนองเหล่านั้นจะแตกออก และแห้ง หรือตกสะเก็ดไปเอง - อาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน เจ็บคอ ไอ หอบเหนื่อยร่วมด้วย
- บางรายที่ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัวอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้อาการรุนแรงอันตรายถึงชีวิตได้
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายเองตามธรรมชาติ และจะมีอาการป่วยเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ นอกเสียจากว่าจะติดเชื้อซ้ำซ้อนที่บริเวณปอด ลามไปสมองจนเกิดการอักเสบขึ้น หรือติดเชื้อที่กระจกตา มีความเสี่ยงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้
การรักษาโรคฝีดาษลิง
ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงเฉพาะ ทำได้เพียงการให้วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษซึ่งผลการรักษาจะมีประสิทธิภาพเพียง 85% รวมทั้งการให้ยาต้านไวรัส ได้แก่ Cidofovir, Tecovirimat และ Brincidofovir
- หากไม่ได้ทำการรักษาโรคฝีดาษลิง ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ธรรมชาติของโรคจะหายได้เองภายใน 2 – 4 สัปดาห์
- การรักษาโรคฝีดาษลิง เป็นการรักษาแบบประคับประคอง เช่น การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ การป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการแกะเกาแผล
- บริเวณที่เป็นผื่น ต้องรักษาความสะอาดของผิวหนังไม่ให้อับชื้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม
- ควรล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ ก่อนและหลังการสัมผัสผื่น
- ทำความสะอาดผื่นด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ
- ไม่ควรปิดผื่นให้มิดชิด แต่ควรเปิดผื่นให้ระบายอากาศได้
- หากผื่นมีอาการปวด บวมแดง หรือเป็นหนอง แนะนำให้รีบพบแพทย์
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังจากผื่นหาย อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถเกิดแผลเป็นภายหลังผื่นหายได้ หากมีอาการผิดปกติ หรือไม่แน่ใจแนะนำให้มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง
- การเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่ป่วย หรือสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของโรค
- ออกห่างจากผู้ติดเชื้อ ผู้ที่สงสัยเสี่ยงติดเชื้อ หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย
- ไม่นำมือไปสัมผัสผื่น ตุ่ม หนอง ของผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ
- สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์หลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยงหรือสิ่งต่าง ๆ
- หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ไม่ปรุงสุก
- การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
วิธีป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
การรับรู้ และเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการป้องกันโรค และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ การดูแลสุขภาพและการป้องกันโรคเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณและครอบครัวมีชีวิตที่แข็งแรง และปลอดภัยกับโรคติดต่อที่เราสามารถป้องกันได้โดยตรงจากการติดเชื้อโรคฝีดาษลิง