ระยะฟักตัว ของ HIV เป็นอย่างไร

ระยะฟักตัว เป็นหนึ่งในข้อมูลความรู้เกี่ยวกับไวรัสเอชไอวีที่คุณควรให้ความสำคัญ เพราะเป็นการเตรียมตัวก่อนตัดสินใจไปตรวจเลือด เนื่องจากสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล มีการตอบสนองต่อเชื้อไวรัสเอชไอวีที่แตกต่างกัน หากระบบภูมิคุ้มกันใช้เวลาในการสร้างมาต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ ได้ช้า ผลตรวจเอชไอวีที่ได้ก็ไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่าผู้ตรวจไม่มีเชื้อเอชไอวี ซึ่งควรจะมีการตรวจซ้ำอีกครั้ง

ระยะฟักตัว คืออะไร

หรือวินโดว์พีเรียด (Window Period) คือช่วงเวลาที่คุณอาจได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีมาแล้ว แต่ระบบการทำงานของร่างกาย ยังไม่อาจสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody) มาต่อต้านเชื้อได้ทัน พอตรวจเลือดก็ไม่พบเชื้อ โดยระยะฟักตัวนี้ ส่วนใหญ่จะกินระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ไปจนถึง 3 เดือนที่เราอาจจะไม่พบเชื้อเลย เพราะฉะนั้นการตรวจเลือดโดยไม่ได้คำนึงถึงระยะฟักตัว จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่แม่นยำ

ระยะฟักตัว

ช่วงที่อยู่ในระยะฟักตัว แพร่เชื้อได้หรือไม่

แน่นอนว่าช่วงที่อยู่ในระยะฟักตัวนั้นมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ยิ่งในกลุ่มเสี่ยงที่ชอบมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดด้วยการฉีดเข็มฉีดยา หรือกลุ่มที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ซึ่งระยะฟักตัวแรกๆ ที่เพิ่งได้รับเชื้อมาใหม่นี้ หากใช้วิธีการตรวจเอชไอวีแบบปกติ อาจตรวจไม่พบ เนื่องจากว่าเชื้อนี้มีระยะฟักตัวในการเปลี่ยนแปลงของผลเลือดจากลบเป็นบวก เพราะฉะนั้นถ้าในคนที่มีปัจจัยเสี่ยง และตรวจเลือดครั้งแรกเป็นลบ ก็ควรตรวจ HIV ซ้ำในระยะเวลาถัดมา โดยทั่วไปผู้ป่วยเกือบทั้งหมดประมาณ 95% จะมีผลเลือดเป็นบวก หลังจากที่ได้รับเชื้อมา เพราะฉะนั้นบางส่วนที่ตรวจก่อนหน้านั้นก็จะมีผลเลือดเป็นลบอยู่ และถ้าติดตามไปถึง 1 ปีทั้ง 100% ก็คงจะมีผลเลือดเป็นบวกอยู่ในคนที่ติดเชื้อ

ผลลบลวง คืออะไร

การตรวจเอชไอวีในช่วงระยะฟักตัวนั้น อาจทำให้ผลเลือดออกมาคลาดเคลื่อนได้ หรือเรียกว่า “ผลลบลวง” คือ ยังไม่พบเชื้อเอชไอวีที่ซ่อนเอาไว้ มีปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ ความไวของชุดตรวจเอชไอวี ภูมิต้านทานที่ยังขึ้นมาไม่สูงพอ การทานยาต้านไวรัสเอชไอวีแบบฉุกเฉิน (PEP) การใช้ชุดตรวจด้วยตัวเองที่ไม่ได้มาตรฐานหรือทำไม่ถูกต้องตามขั้นตอน เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะมีการซักประวัติเพิ่มเติม และพิจารณาให้มีการตรวจเอชไอวีซ้ำอีกครั้ง หลังจากผ่านช่วงระยะฟักตัวที่เหมาะสมไปแล้ว หรือในบางรายอาจต้องเลือกตรวจเอชไอวีด้วยวิธีที่แตกต่างกันอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อยืนยันผลที่แน่นอนว่าไม่พบเชื้อเอชไอวีจริงๆ

โรคเอดส์ ระยะฟักตัว กี่ปีถึงจะมีอาการ

กว่าที่คนๆ หนึ่งที่มีเชื้อเอชไอวี จะเข้าสู่ภาวะโรคเอดส์ได้ ต้องผ่านระยะการติดเชื้อที่กินเวลายาวนานหลายปี โดยที่ระหว่างการติดเชื้ออยู่ไม่เคยได้รับการรักษาเลย โดยจะสามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วงระยะด้วยกัน ดังต่อไปนี้

ระยะเฉียบพลัน

เป็นระยะเริ่มแรกของการติดเชื้อเอชไอวี มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาตั้งแต่ 2-4 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ โดยในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจำนวนมากจะเริ่มมีอาการขึ้นจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อเอชไอวี เช่น

  • ปวดเนื้อเมื่อยตัว อ่อนเพลีย
  • มีไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
  • มีผื่นขึ้นตามร่างกาย
  • ท้องเสีย

ระยะติดเชื้อเอชไอวีเฉียบพลันนี้ ปริมาณของเชื้อจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากในร่างกาย ทำให้ค่า CD4 ในร่างกายลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน จึงเป็นระยะที่มีความเสี่ยงสูงมากที่สุด ที่จะแพร่กระจายไวรัสเอชไอวีไปยังผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม หลังจากช่วงเวลาผ่านไปประมาณ 14-28 วัน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะค่อยๆ ทำให้ปริมาณของเชื้อเอชไอวีอยู่ในระดับคงที่ ถือว่าเป็นช่วงที่แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยค่อนข้างยาก และควรเลือกวิธีการตรวจหาเชื้อที่เหมาะสมที่สุด จึงจะทำให้ทราบสถานะของผู้ติดเชื้อได้อย่างแน่นอน

โรคเอดส์ ระยะฟักตัว กี่ปีถึงจะมีอาการ

ระยะติดเชื้อเรื้อรัง

เป็นระยะของการติดเชื้อเอชไอวีที่ผู้ป่วยแทบไม่มีอาการใดๆ ที่แสดงออกมาให้เห็นเลย หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเป็นระยะสงบทางคลินิก แต่ในบางคนก็มีโรคเบื้องต้นเกิดขึ้นได้ แต่จะมีอาการไม่ค่อยเยอะมาก ได้แก่

  • โรคงูสวัด
  • โรคสะเก็ดเงิน
  • โรคปอดอักเสบ
  • โรคเชื้อราในช่องปาก
  • โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง
  • โรคปวดกล้ามเนื้อและข้อ
  • โรคผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ด
  • โรคเริมที่อวัยวะเพศ หรือริมฝีปาก

ระยะติดเชื้อเอชไอวีเรื้อรัง ปริมาณของไวรัสจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้นในระดับต่ำ และกินระยะเวลายาวนานมากกว่า 10 ปี หรือในบางคนอาจใช้เวลาน้อยกว่านั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมความเสี่ยงที่อาจรับเชื้อมาเพิ่ม และสุขภาพความแข็งแรงของบุคคลนั้นด้วย

ระยะเอดส์

เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี ที่ผู้ป่วยจะพัฒนาอาการเข้าสู่ภาวะโรคเอดส์ หากตรวจค่า CD4 จะพบว่ามีระดับต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร (จากเกณฑ์ปกติอยู่ระหว่าง 500-1,600 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร) เมื่อถึงจุดนี้ ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง จนผู้ป่วยเป็นโรคฉวยโอกาสต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับผู้มีที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเท่านั้น เพราะเมื่อร่างกายขาดภูมิคุ้มกันมากๆ เข้า เชื้อโรคก็เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ทั้งไวรัสเอชไอวีที่มีอยู่ในตัวแล้ว ไปจนถึงเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว ฯลฯ ซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่มีการรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อนและหายขาดได้ยาก แถมยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเรื่อยๆ เนื่องจากผู้ป่วยระยะเอดส์มีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง

สิ่งที่ป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่ภาวะโรคเอดส์ได้ คือการตรวจพบเชื้อให้เร็วที่สุด และเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที เพื่อที่ตัวยาจะได้เข้าไปช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกาย และลดการแบ่งตัวของไวรัสเอชไอวีลง ทำให้ไม่เจ็บป่วยจากโรคฉวยโอกาสได้ง่ายๆ และยังมีสุขภาพที่ดี

ตรวจ HIV ต้องรอระยะฟักตัวกี่วัน

จริงๆ แล้วการตรวจ HIV สามารถรอระยะฟักตัวหลังจากมีความเสี่ยงมาประมาณ 30 วัน ก็สามารถตรวจพบและเชื่อถือผลตรวจได้แล้ว แต่จะแบ่งออกตามวิธีการตรวจ ดังนี้

ระยะฟักตัว 7 วันขึ้นไป

  • สามารถเลือกการตรวจ HIV ด้วยการหาสารพันธุกรรมของเชื้อ (Nucleic Acid Amplification Testing: NAT) สำหรับการตรวจ HIV RNA หรือ Proviral DNA นี้มีการใช้เพื่อติดตามปริมาณไวรัส (Viral Load) ทั้งก่อนและหลังการรักษาเอชไอวี ซึ่งเป็นวิธีที่มีความรวดเร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอถึง 14 วัน แพทย์มักจะเลือกตรวจวิธีนี้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการรับเชื้อ

ระยะฟักตัว 14 วันขึ้นไป

  • สามารถเลือกการตรวจ HIV ด้วยการหาแอนติเจนของเชื้อ (HIV p24 Antigen Testing) คือการตรวจโปรตีนที่มีชื่อว่า p24 Antigen วิธีนี้ใช้สำหรับตรวจการติดเชื้อในระยะแรก ซึ่งร่างกายยังไม่สร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านเชื้อเอชไอวี หรือร่างกายมีระดับภูมิคุ้มกันในระดับต่ำมาก จนไม่สามารถตรวจวัดได้ หรือ
  • สามารถเลือกการตรวจ HIV ด้วยการใช้ชุดตรวจแอนติเจนและแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อพร้อมกัน (HIV Ag/Ab Combination Assay) หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า เป็นการตรวจเอชไอวีแบบน้ำยา Fourth Generation สรุปง่ายๆ คือ เป็นการตรวจทั้ง HIV p24 Antigen และ Anti-HIV ในคราวเดียวกัน ที่จะช่วยเพิ่มความแม่นยำของผลตรวจได้

ระยะฟักตัว 21 วันขึ้นไป

  • สามารถเลือกการตรวจ HIV ด้วยการหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อ HIV (Anti-HIV Testing) คือตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) ของร่างกายที่สร้างขึ้นมาเมื่อมีเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย และเป็นวิธีเบื้องต้นที่ตามสถานพยาบาลนิยมใช้ในปัจจุบัน หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า เป็นการตรวจเอชไอวีแบบน้ำยา Third Generation สามารถทราบผลได้ใน 1-2 ชั่วโมง

ทั้งนี้ แม้การตรวจเอชไอวีรอบแรกไม่พบเชื้อ ควรรอเวลาผ่านไป 3 เดือนแล้วจึงตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อยืนยันผลที่แน่นอนที่สุด

การตรวจเอชไอวีด้วยวิธีที่เหมาะสมตาม ระยะฟักตัว

การเรียนรู้ และเข้าใจถึงกลไกของระยะฟักตัวจะช่วยให้คุณเลือกวิธีการตรวจเอชไอวีได้อย่างถูกต้อง และให้ผลที่แม่นยำ ว่ามีหรือไม่มีเชื้อ เพื่อที่จะได้วางแผนขั้นตอนต่อไปได้ แนะนำให้ผู้ตรวจเอชไอวี ทำการปรึกษาแพทย์ และแจ้งข้อมูลความเสี่ยงอย่างตรงไปตรงมา เพื่อที่แพทย์จะได้ให้ข้อมูลสำหรับวิธีการตรวจที่เหมาะสม เพราะด้วยความที่ไวรัสเอชไอวีเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการให้เห็นอย่างเด่นชัด และกว่าจะเริ่มมีอาการก็อาจลุกลามไปทั่วร่างกายแล้ว ยากต่อการรักษา เพื่อการตรวจ HIV ที่ได้ผลลัพธ์ที่ดี จะสร้างความมั่นใจและคลายความกังวลของผู้ตรวจที่มีความเสี่ยงได้ครับ

อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง